อาการลืมบ่อยมักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ ที่ชอบลืมนู่น นี่ นั่น หรือแม้แต่คนที่ยังทำงานอยู่ลืมบ่อยมากขึ้น มักจะถูกคนใกล้เคียงกล่าวหาว่าน่าจะเป็นสมองเสื่อม หรือถ้ารู้จักเรื่องโรคอัลไซเมอร์ก็ถึงกับอุปโลกน์ไปเลยว่าอัลไซเมอร์กินหรือเปล่า

มาทำความเข้าใจเรื่องของการลืมที่พบบ่อยในผู้มีภาวะสมองเสื่อม และอาการลืมที่พบได้ในคนทั่วๆ ไป คุยเรื่องความจำในแบบทั่วๆ ไปก่อน จะได้มีพื้นฐานเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจ แยกแยะได้ง่ายขึ้น

หลักการกระบวนการที่ทำให้เกิดความจำมี 3 ขั้นตอน
1.การบันทึกความจำ
2.การจัดเก็บความจำ
3.การระลึกได้ หรือนึกได้ในเหตุการณ์นั้นๆ

การบันทึกความจำ (ขั้นตอนที่ 1) เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตนั้น จะจำได้ดีหรือแจ่มชัดเพียงใดขึ้นอยู่กับ
– ระยะเวลาที่เกิดเหตุการณ์นั้น ถ้าเหตุการณ์นั้นกินระยะเวลานานระดับหนึ่ง ร่างกายจะบันทึกความจำนี้ให้โดยที่เจ้าตัวไม่ต้องตั้งใจที่จะจำ แต่ถ้าเหตุการณ์นั้นใช้เวลาแป๊บเดียว เราต้องตั้งใจจึงจะบันทึกเป็นความจำได้ดี
– ความใส่ใจ ตั้งใจ สมาธิ และอารมณ์ความรู้สึกที่มีอยู่ในช่วงเวลานั้น ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้ความจำแน่นแฟ้นหรือเลื่อนลอย
– ตัวกวนที่ทำให้ความจำนั้นไม่แจ่มชัด เช่นเสียงดังเอะอะ สภาพอากาศไม่เป็นใจ ร้อนมากหรือถูกฝนสาดใส่ ไม่สบายตัว

ปกติแล้วคนทั่วไปมักจะลืมสิ่งที่เกิดขึ้นนานมาแล้ว และระลึกความจำใหม่ได้ดีกว่า แต่ในคนที่ความสามารถสมองด้านการรู้คิดเริ่มบกพร่อง จะลืมเลือนสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นาน ขนาดที่ในวันนั้นความจำเก่ายังแจ่มชัดมากกว่า

สรุปว่า ในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมจะลืมของใหม่ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่นาน เช่น 2-3 เดือนที่ผ่านมา ลืมทั้งหมดทั้งมวล เมื่อเวลาผ่านไป การลืมเหตุการณ์ใหม่ก็จะเกิดมากขึ้น และลืมได้แม้เหตุการณ์นั้นเพิ่งสิ้นสุดไปเมื่อกี้นี้เอง ที่พบบ่อยได้แก่ ผู้สูงอายุที่กินอาหารไปแล้วจำไม่ได้ หรือกินแล้วบอกว่ายังไม่ได้กิน ท่านไม่ได้อยากกินอีก แต่จำไม่ได้จริง ๆ ว่าเพิ่งรับประทานอาหารไปเมื่อครู่นี้เอง

สำหรับคนทั่วไป จะมีเรื่องที่ระลึกไม่ได้ และรู้สึกว่าตนเองขี้ลืมในบางเรื่องที่พบบ่อย เช่น คนที่ขับรถ เมื่อมาถึงที่หมายลงจากรถเดินไปสักครู่ ก็เอ๊ะ เราล็อกรถหรือยัง อีกกรณีหนึ่งที่มีคนมาปรึกษาบ่อยๆ คือ กำลังทำกิจกรรมอย่างหนึ่งอยู่ แล้วเกิดความคิดแว๊บขึ้นมาว่าจะไปเอาของสักอย่าง ลุกขึ้น แล้วเดินออกไป พอไปถึงที่หมายกลับนึกไม่ออกว่าจะมาเอาอะไร เดินวนไปวนมาก็นึกไม่ออก ต้องเดินกลับมาที่จุดเดิม ส่วนใหญ่จะนึกออกว่า เมื่อครู่จะไปเอาอะไร แบบนี้เริ่มเป็นสมองเสื่อมหรือเปล่า?

ตรงนี้บอกได้ว่า ยังไม่เหมือนสมองเสื่อมและไม่ได้ลืม แต่ที่นึกไม่ออกเพราะไม่ได้ตั้งใจบันทึกให้เป็นความจำในเหตุการณ์ที่เกิดสั้นๆ (ที่เน้นไว้ตั้งแต่ต้นว่า ในการจัดเก็บความจำที่เกิดขึ้นชั่วขณะ แค่ 1-3 วินาที เราต้องตั้งใจ จึงจะเกิดการบันทึกความจำที่เหมาะสมได้) เรียกว่า ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ เมื่อไม่ได้บันทึกลงไป จึงไม่มีความจำนั้นเกิดขึ้นและไม่สามารถระลึกได้

ให้แก้ไขด้วยการเอาใจจดจ่อกับทุกกิจกรรมที่สำคัญ ถึงแม้เรื่องนั้นจะใช้เวลาแป๊บเดียวก็ตาม นอกจากปัญหาความจำ ผู้มีภาวะสมองเสื่อมจะบกพร่องในเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น หลงทาง ขึ้น ลงทางด่วนไม่ถูก บกพร่องในการทำกิจกรรมซับซ้อน เป็นขั้นตอนที่ตนเองเคยถนัดและทำได้ลื่นไหล เรียกชื่อสิ่งของไม่ค่อยได้ ทั้งที่เป็นของที่ใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน เป็นต้น

สิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับทุกท่านที่จะช่วยให้ระลึกสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ดี คือ เอาใจจดจ่อกับทุกการกระทำที่สำคัญ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของความจำ เพื่อที่ทุกท่านจะระลึกได้ทุกเรื่องในภายหลัง

ผู้เขียน
ผศ. พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ติดตามเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพได้ที่  tongawaterfrontlodge.com